/img/upload/article/20190128140335_639055939.jpg
SHARE
  • DEER AND BOOK
  • DEER AND BOOK
  • DEER AND BOOK
# NEWS

LGBT : ฉันต้องทำงานให้หนักเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นรู้ว่า ฉันก็เป็นครูได้

Update: 27 Jun 2019

"คุณเป็นกะเทยหรือเปล่า" คือ ประโยคที่ ดร. สิริรัฏฐ์ กาญจนโพธิ์ ครูผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกถามระหว่างการสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้ารับการ บรรจุเป็นข้าราชการครูในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ที่ จ.อุทัยธานี เมื่อปี 2544

ในรูปกายที่เป็นชาย ผมสั้น และสวมกางเกง ไปสอบสัมภาษณ์ สิริรัฏฐ์ ตอบกลับไปว่า "เป็นครับ" ก่อนที่จะถูกถามอีกว่า "คิดยังไงกับการเป็นกะเทยแล้วมาเป็นครู... เป็นครูกะเทยมันมีผลต่อการศึกษายังไง"

"เป็นเพศที่สาม เป็นครูได้หรือไม่"

ในช่วง 2-3 วันมานี้ โลกโซเชียลต่างวิจารณ์ข้อความหนึ่งที่ถูกโพสต์โดยเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า คณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (USCE) ที่ตั้งคำถามให้สังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า "เป็นเพศที่สาม เป็นครูได้หรือไม่" ซึ่งสืบเนื่องมาจากบทความออนไลน์บน www.nisitreview.com

บทความนี้เปิดเผยเหตุการณ์ที่แสดงถึงทัศนคติเหยียดเพศของอาจารย์คนหนึ่งในคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ประโยคหนึ่งระบุคำพูดของอาจารย์ว่า "กะเทยเป็นพวกวิปริตผิดเพศ ไม่สมควรจะเป็นครู"

ขณะเดียวกัน นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดการรณรงค์บนเว็บไซต์ change.org เรื่อง ขอให้คณะ​ครุศาสตร์​ จุฬา​ฯ ตรวจสอบพฤติกรรม​เหยียดเพศในชั้นเรียนของอาจารย์พิเศษของคณะ ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรม กำชับไม่ให้สอนความคิดเหยียดเพศ และเปิดโอกาสให้นิสิตในชั้นเรียนโต้แย้งและถกเถียงอย่างเป็นวิชาการ เสรี และไม่มีผลต่อผลการศึกษา

ท่ามกลางการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ บางความเห็นบอกว่า "เป็นเพศที่สาม เป็นครูได้หรือไม่" ไม่ควรจะเป็นคำถามด้วยซ้ำ และสิริรัฏฐ์ คือ หนึ่งในนั้น

สิริรัฏฐ์ กาญจนโพธิ์

เริ่มเป็นครู

สิริรัฏฐ์ หรือครูเอ ในวัย 43 ปี ที่เด็ก ๆ ลูกศิษย์ของเธอเรียกขาน เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เธอสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านวังเกษตร อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 กลุ่มสาระวิชาคอมพิวเตอร์ การงานและทัศนศิลป์ เธอมีดีกรีนำหน้าด้วยดอกเตอร์ ซึ่งมีให้เห็นไม่มากนักในครูระดับมัธยม โดยจบการศึกษาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการการศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

"เพราะว่าเกิดในยุคที่ยังไม่ยอมรับเพศสภาพเรา การศึกษา รางวัลของเด็กและรางวัลในฐานะที่เป็นครู คือ ตัวปกป้องตัวเรา" คือ เหตุผลที่ครูเอศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญาเอก ภายหลังเริ่มเป็นครูได้ระยะหนึ่ง

ตอนที่สอบครูเมื่อ 18 ปีที่แล้ว หลังจากถูกถามคำถามเช่นนั้น เธอคิดว่า เธอคงไม่ได้เป็นครูตามที่ใฝ่ฝันไว้แล้ว

แต่ครูเอ ไม่ได้รู้สึกโกรธอะไร เพียงแต่คิดว่า "เราคงแอ๊ค(แสดงท่าทาง) ไม่เหมือนชายล่ะมั้ง เพราะตั้งแต่เกิดมาเจอสภาวะแบบนี้มาตลอดชีวิตอยู่แล้ว "

ส่วนคำตอบที่เธอให้กรรมการไปวันนั้น เธอบอกว่า กะเทยไม่ใช่โรคติดต่อ และการเป็นครูกะเทย เธอก็คิดว่าเธออาจเป็นไอดอล (ต้นแบบ) ที่ทำให้เด็กชายที่อาจมีความหลากหลายทางเพศอยู่แล้วได้รู้จักตัวตนของตัวเองเร็วขึ้น

ทว่าเมื่อผลการสอบบรรจุครูออกมาก็สร้างความประหลาดใจแก่ตัวเธอเอง เมื่อพบว่าเธอได้เป็นครูอย่างที่ตั้งใจ

สิริรัฏฐ์ กาญจนโพธิ์

ประสบการณ์เลวร้าย

เมื่อเรียนจบปริญญาโทแล้วกลับมาสอนต่อ ครูเอตัดสินใจแต่งกาย สวมกางเกงทรงผู้หญิงและไว้ผมยาว มาสอน สิ่งที่ได้รับคือ ผู้บริหารโรงเรียนเรียกเธอเข้าพบ พร้อมกางระเบียบการแต่งกายของข้าราชการชายให้ดู แล้วบอกให้เธอไปตัดผม

"ถ้าผมสั้นก็คงไม่มีปัญหาตอนมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรอกมั้ง" ครูเอ รำลึกความหลังคำพูดของอดีต ผู้อำนวยการ

"เข้าใจว่าคงได้รับแรงกดดันบางอย่างจากผู้บริหารที่สูงขึ้นไป เพราะในสมัยนั้น ยังไม่มีครูเพศที่สามแต่งหญิง"

จนกระทั่งเปลี่ยนผู้บริหารมาเป็นคนปัจจุบันที่เปิดกว้างให้สามารถแต่งกายเป็นหญิงได้

"มันไม่ได้ผ่านมาง่าย ๆ ในแต่ละครั้งที่เปลี่ยนผ่าน แต่ทุกครั้งพูดได้ว่าเราใช้การศึกษา เด็กของเราที่เราสอน ผลผลิตที่เราสอนปกป้องตัวเราเอง เราก็สร้างเด็กอย่างเต็มศักยภาพจนได้รับการยอมรับจากผู้ปกครอง"

สิริรัฏฐ์ กาญจนโพธิ์ ครูโรงเรียนบ้านวังเกษตร จ.อุทัยธานี

ฝันของคนเป็นครู

ความฝันสูงสุดของการเป็นครูของครูเอ คือ การดูแลลูกศิษย์อย่างเต็มที่ ผู้ปกครองให้ความไว้วางใจ และพัฒนาศักยภาพจนได้ระดับวิทยฐานะสูงขึ้นไป ดังเช่นที่พ่อแม่ของเธอ ซึ่งมีอาชีพครูเช่นกันได้ทำไว้เป็นแบบอย่าง

ผลงานที่พิสูจน์การผลักดันศักยภาพของลูกศิษย์ที่ครูเอ และเพื่อนครูในโรงเรียน ช่วยกัน ได้แก่ รางวัลมากมายทั้งในระดับภาคเหนือและการเป็นตัวแทนไปแข่งระดับประเทศ ในกลุ่มสาระวิชาการงานอาชีพ

"มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กเห็นศักยภาพของตัวเองจากการแข่งขัน มีเด็กชายคนนึงไม่ชอบไปโรงเรียนเลย ชอบหาปลา ตีไก่ แต่เมื่อมาเริ่มแข่งทำขนม เขาก็ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ไปเรียนสาขาอาหารจนมีโอกาสได้ทำเครื่องเสวยให้สมเด็จพระเทพฯ"

"การส่งเด็กไปถูกที่ถูกทาง ไปด้วยใจที่เค้าชอบจริง ๆ นั่นคือความภูมิใจ "

ผลงานครูImage copyrightF

เมื่อถามว่า มีความแตกต่างไหมระหว่างการเป็นครูที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ กับครูชาย-หญิง ครูเอชี้ให้สิ่งที่ไม่ต่างกันเลย คือ ความเป็นเพศไม่ได้ตัดสินความสามารถของการเป็นครู

"จะเป็นครูเพศไหนไม่ได้มีผลอะไรกับการเรียนรู้ของนักเรียนเลย ทักษะในการจัดการเรียนรู้ต่างหาก"

"แต่ในแง่การต้องพิสูจน์ ครูเพศที่สามทุกคนน่าจะเหนื่อยกว่า เพราะว่าต้องทำงานหนักเพื่อทำให้เขารู้ว่า ฉันก็เป็นครูได้ เราต้องเอาเรื่องงานมาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อกลบลบเพศสภาพที่คนอื่นมองเรา"

ทุกวันนี้ ครูเอ ไม่คิดจะย้ายเข้าไปอยู่โรงเรียนในเมือง เพราะคิดว่าโรงเรียนนอกเมืองต้องการครู เธอมองว่าโดยพื้นฐานแล้ว เด็กในเมืองมีความพร้อมอยู่แล้ว

แต่กับเด็กในโรงเรียนที่ไกลออกไป นอกจากให้ความรู้แล้ว "ต้องให้อย่างอื่นอีก มันยากกว่า มันท้าทาย จนมันเกิดเป็นความรักต่อพวกเขา"


สิ้นสุด Facebook โพสต์ โดย คณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (USCE)

ชายเป็นใหญ่

ครูเอ ตอบคำถามบีบีซีไทยว่า หากเธอไม่ได้อยู่ในจุดที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ ในทางกลับกันเธอจะเป็นอย่างไร

เธอมองว่า คงอยู่ยากมากในสังคมที่แวดล้อมเธออยู่

"สังคมยังให้ค่าของเพศชายเป็นใหญ่ เราจะพบว่าไม่มีครูผู้หญิงคนไหนจะออกมาแอนตี้สาวประเภทสองที่มากดดัน กลายเป็นว่า น้อง ๆ (ครูเพศที่สาม) ต้องแอคทีฟ หากเป็นครูที่สอนไปวัน ๆ ถ้าเจอสภาวะคนไม่ยอมรับก็จะอยู่ยาก"

เธอยังกล่าวถึง ทัศนคติของอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่า เรื่องนี้ สะท้อนว่าผู้ชายมักคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่

"เขามองว่าการเป็นเพศที่สามเป็นความน่ารังเกียจ เด็ก ๆ รุ่นใหม่อาจไม่เจอมากนักเพราะโลกทัศน์กว้างขึ้น แต่สิ่งที่เราเจอมา เราเจอมันจนชินชา เวลาเห็นเรื่องแบบนี้ก็เข้าใจได้ทันทีว่าคนที่แสดงคำพูดแบบนี้มีทัศนคติแบบไหน"

"ที่เราไปแสดงความเห็น เพราะรู้สึกว่า ทำไมลดทอนคุณค่าของตัวเองด้วยการตั้งคำถามแบบนี้บนโลกออนไลน์ เหมือนโยนความผิดว่า กะเทยเพศที่สามไม่มีสิทธิเป็นข้าราชการครู"

RELATE ARTICLE

Loading...